
เช้าวันที่ 7 มกราคม 2564 นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย รองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา 1 นายจินกร แก้วศรี รองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา 2 นายพงษ์ธวัช อ่วมสำอางค์ ผู้อำนวยการส่วนคดีการฟอกเงินทางอาญา 3 นายสุวิจักขณ์ ธรรมชัยพจน์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจสอบหอพักคีรียาเพลส ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งยึดทรัพย์ลำดับที่ 76 ประเภทหอพัก โฉนดที่ดิน เลขที่ 68805 เลขที่ดิน 2092 ซึ่งมีนายประจวบ นาคำ เป็นเจ้าของกรรรมสิทธิ์ร่วมกลุ่มผู้ต้องหา จึงแจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมให้ทราบและห้ามมิให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินดังกล่าว
โดยมีนางสุมาลี นาคำ อายุ 46 ปี เจ้าของหอพักดังกล่าวเป็นผู้นำตรวจ ซึ่งหอพักแห่งนี้ตั้งอยู่พื้นที่ 1 ไร่ เป็นหอพัก 3 ชั้น มีจำนวน 53 ห้อง เปิดให้เช่าเดือนละ 2,500 – 3,000 บาท มูลค่าทรัพย์สินจำนองรวมประมาณ 24.3 ล้านบาท ขณะที่นางมาลีได้นำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่พร้อมนำโฉนดที่ดิน เลขที่ 68805 เลขที่ดิน 2092 ซึ่งมีนายประจวบ นาคำ เป็นเจ้าของกรรรมสิทธิ์ร่วมกลุ่มผู้ต้องหา มอบให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบ

นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย รองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา 1 ดีเอสไอ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่า ในปี 2558 อดีตกรรมการสหกรณ์ที่ถูกกล่าวหา ได้นำเงินที่ได้จากการทุจริตสหกรณ์สโมสรรถไฟ ไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม โดยมีค่าตอบแทนในที่ดินแปลงดังกล่าว ปปง. จึงขยายผลยึดทรัพย์เพื่อดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สิน และดำเนินการให้ศาลแพ่งมีคำพิพากษายึดทรัพย์ต่อไป โดยปฏิบัติการนี้ ดีเอสไอส และ ปปง. เห็นว่าเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน อีกทั้งเพื่อให้คำสั่งยึดทรัพย์สินของคณะกรรมการธุรกรรมที่ 125/2563 สัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติและได้ทรัพย์สินคืนให้ผู้เสียหายโดยเร็ว ทั้งยังขยายผลไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นดอกผลที่สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง และยังสนองตอบต่อปัญหาการทุจริต และนำทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน คืนให้กับผู้เสียหาย ขณะเดียวกันจะเร่งรัดขยายผลเพื่อยึดทรัพย์สิน ของบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป
ด้านนางสุมาลี เปิดเผยว่า ตนได้ไปกู้เงินสหกรณ์รถไฟมา 24.3 ล้านบาท เมื่อสิบปีก่อน เพื่อนำมาซื้อหอพักแห่งนี้ และได้มีการส่งเงินให้สหกรณ์ไปเดือนละ 1.6 แสนบาท โดยส่งไปแล้วประมาณ 10 ปี แต่เงินต้นลดไปเพียง 1 ล้านบาท ตนก็งงมากจึงติดต่อสอบถามไปยังสหกรณ์ ซึ่งขณะนั้นได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ต่อมาสหกรณ์แจ้งให้ส่งเงินให้คณะกรรมการคนหนึ่งแทน กระทั่งมาทราบจากเจ้าหน้าที่ ปปง. และดีเอสไอว่า มีการทุจริตเกิดขึ้น และทางสหกรณ์รถไฟได้เข้ามาถือหุ้นในหอพักที่ตนดูแลด้วย

ทั้งนี้นางสุมาลี ยืนยันว่า ตนเองไม่ทราบเรื่องและไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการทุจริตดังกล่าว และเพิ่งมาทราบว่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งเป็นของอดีตผู้บริหาสหกรณ์ จึงเตรียมจะนำเอกสารชี้แจ้งต่อ ปปง. เพื่อขอคืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นของตนเอง แต่อีกส่วนต้องยอมเสียไป ถือเป็นบทเรียนสำคัญ
สำหรับการยึดทรัพย์ครั้งนี้เป็นการขยายผลยึดทรัพย์ของสมาชิกของสหกรณ์รถไฟ 1 ใน 7 รายที่มีการทุจริตเงินในสหกรณ์รถไฟ เพื่อไปซื้อทรัพย์สินและฟอกเงินในหลายจังหวัดทั้งจังหวัด เพชรบุรี ภูเก็ต นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานีซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,800 ล้านบาท
สำนักข่าวเห็ดลม รายงาน