วันที่ 4 มิถุนายน 2562 ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังการบริโภคเห็ดในช่วงฤดูฝนที่มีเห็ดป่าขายออกวางขายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย โดยแนะนำให้ประชาชนบริโภคเฉพาะเห็ดที่ตนเองรู้จักและเคยรับประทานเท่านั้น หากไม่มั่นใจว่าเห็ดที่พบเห็นสามารถรับประทานได้ ไม่มีใครเคยนำมากิน หรือมีรายงานประวัติความเป็นพิษของเห็ดดังกล่าว ก็ไม่ควรรับประทาน และให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเห็ดให้แน่ชัด
“เห็ดเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย และช่วยให้เจริญอาหาร คุณสมบัติเด่นของเห็ด คือ มีไฟเบอร์สูงและแคลอรี่ต่ำ มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 5-34 % มีไขมันต่ำเพียง 1-8 % ของน้ำหนักแห้ง 100 กรัม มีแร่ธาตุ และวิตามินสูง ซึ่งตัวอย่างเห็ดป่าที่กินได้และรู้จักกันดีในประเทศไทย เช่น เห็ดระโงกขาว เห็ดโคนเห็ดขอน และเห็ดเผาะ เป็นต้น แม้เห็ดส่วนใหญ่จะรับประทานได้และมีประโยชน์ แต่เห็ดบางชนิดก็มีพิษร้ายแรง สามารถทําลายเซลล์ของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจ ระบบสมอง และทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ความตายได้ อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษคือ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ท้องร่วง ความรุนแรงขึ้นกับเพศ อายุ และปริมาณในการรับประทาน”
ดร.ทรงยศ กล่าวแนะวิธีการสังเกตเห็ดพิษด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบต่อกันมาว่า หากเห็ดชนิดนั้นขึ้นอยู่ใกล้มูลสัตว์ มีสีน้ำตาลหรือสีสันฉูดฉาด หมวกเห็ดมีปุ่มปม มีวงแหวนใต้หมวก หรือเมื่อดอกแก่ มีกลิ่นเอียนหรือกลิ่นค่อนข้างแรง ก็ให้พึงระวังว่าจะเป็นเห็ดพิษ สารพิษในเห็ดโดยส่วนใหญ่จะสลายตัวด้วยความร้อน ดังนั้นจึงควรปรุงให้สุก ไม่ควรกินเห็ดดิบโดยเด็ดขาด
“เมื่อได้รับสารพิษจากเห็ด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากล้วงคอเพื่ออาเจียนแล้ว การดื่มน้ำคั้นจากใบรางจืดก็สามารถล้างพิษเห็ดได้เบื้องต้น และรีบไปพบแพทย์ในทันที ข้อห้ามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หลังจากบริโภคเห็ดป่าโดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้พิษกระจายรวดเร็วขึ้น ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้”
อย่างไรก็ตามจากสถิติสถานการณ์โรค ข้อมูลงานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือน 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษแล้ว 1 ราย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย จำนวน 26 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าว
สำนักข่าวเห็ดลม รายงาน