เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มีนาคม 2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2562 ครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อ ‘ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology’ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘คมนาคมทุกโหมด ตอบโจทย์ประเทศไทย’ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 4 โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ มากกว่า 300 คน
นายอาคม กล่าวว่า ภาพรวมยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2565) วงเงินลงทุนรวม 1,714,241 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการเห็นเป็นรูปธรรม และบางโครงการใกล้แล้วเสร็จ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – โคราช และท่าอากาศยานเบตง ระยะที่ 2 โครงการที่ดำเนินการในปี 2566 – 2570 วงเงินลงทุนรวม 636,863 ล้านบาท ระยะที่ 3 ดำเนินการในปี 2571 – 2575 วงเงินลงทุนรวม 418,121 ล้านบาท และระยะที่ 4 ดำเนินการในปี 2576 – 2580 วงเงินลงทุนรวม 318,436 ล้านบาท
โดยมีโครงการสำคัญที่เร่งรัดผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ ยกระดับการเดินทางและขนส่งสินค้าในภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1) ทางราง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ กรุงเทพฯ–พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร เปิดให้บริการในปี 2568 และพิษณุโลก–เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กิโลเมตร เปิดใก้บริการปี 2572 รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ปากน้ำโพ – เด่นชัย เด่นชัย – เชียงใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และการศึกษารถไฟฟ้ารางเบาเพื่อการเดินทางที่คล่องตัวและลดปัญหาการจราจร ใน 3 เส้นทาง โดยจะเริ่มสายสีแดงก่อน เริ่มก่อสร้าง 2562-2564 เพื่อแก้ปัญหาจราจร
2) ทางอากาศ เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่เดิมให้รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนในปี 2568 เพิ่มหลุมจอด อาคารหลังใหม่ อาคารจอดรถ 1,600 คัน ส่วนท่าอากาศยานแห่งที่ 2 กำลังศึกษาความเหมาะสมและพื้นที่ คาดเริ่มก่อสร้างในปี 2568 ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด เพิ่มอาคารหลังใหม่ ขยายทางวิ่ง รองรับผู้โดยสาร 1.7 ล้านคนต่อปี เปิดให้บริการ 2564 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานลำปาง ขยายหลุมจอด รองรับผู้โดยสาร 3.4 ล้านคนต่อปี เปิดให้บริการปี 2568 และท่าอากาศยานแพร่ เตรียมขยายทางวิ่งเพิ่ม เพื่อรองรับผู้โดยสาร 9 แสนคนต่อปี เปิดให้บริการปี 2569
3) ทางถนน ประกอบด้วย ถนนไฮเวย์ ช่วงเชียงใหม่ – ลำปาง – พะเยา – เชียงราย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ตาก – แม่สอด สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ อยู่ระหว่างก่อสร้างบนพื้นที่ 336 ไร่ เตรียมเปิดให้บริการปี 2563 สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค จุดพักรถบรรทุก 6 แห่ง ในภาคเหนือ เริ่มให้บริการปี 2562 และ 2563 และทางลอดฟ้าฮ่าม 4) ทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และการพัฒนาท่าเรือบกที่ จังหวัดนครสวรรค์
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานผ่านสื่อ Multimedia ที่ทันสมัยภายใต้แนวคิด Seamless Mobility เชื่อมโยงทุกระบบคมนาคมอย่างไร้รอยต่อทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง รวมทั้งกิจกรรมเวทีกลางตอบคำถามรับรางวัล สอดแทรกการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงฯ โครงการสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และส่งเสริมความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย
ทั้งนี้การจัดงานนิทรรศการและเสวนาการสร้างการรับรู้ฯ ‘ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology’ จะจัดขึ้นอีก 2 ครั้ง ในวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2562 ณ ห้องสีมาแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ ณ จังหวัดกระบี่ ในเดือนเมษายน 2562
สำนักข่าวเห็ดลม รายงาน