วันที่ 28 มกราคม 2562 คณะข้าราชการ (บมท.รุ่นที่ 32) และคณะเยาวชนนักกฎหมายจากประเทศประชาคมอาเซียน (++) นำโดยสมาคมนักศึกษากฎหมายเอเชียแห่งประเทศไทย (ALSA, Thailand) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลสำคัญของโลก พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี‘ โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และคุณอัมพร ดิศกุล ณ อยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ ณ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย : หลากชีวิตหลายวิถีมีศึกษา ได้เพิ่มพูนหนุนความรู้ชูปัญญา เนิ่นนานมายังรักษ์ไว้ไม่ร้างรา
ซึ่ง ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง ไม่ไกลจากตลาดสะพานขาว ตลาดนางเลิ้ง คลองมหานาค และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ (มิวเซียม) และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วังวรดิศสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2454 บนที่ดินของเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยสร้างจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ออกแบบโดย ‘Karl Doehring’ นายช่างและสถาปนิกชาวเยอรมัน สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 และมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6
ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเป็นอาคารสูง 2 ชั้น รูปตัวแอล หลังคาทรงจั่วหักมุมตอนปลาย มีความชันมากจนใต้หลังคาสามารถใช้เป็นห้องเก็บหนังสือพระนิพนธ์ได้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ไม่เคลือบสี หลังคาด้านหน้าและด้านข้างมีหน้าต่างเล็กบนลาดหลังคาเพื่อระบายอากาศแบบยุโรป ภายในเป็นพื้นไม้
ลักษณะการตกแต่งมีลายปูนปั้นที่ผนังตอนบนใกล้หลังคา ขอบอาคารชั้นบนมุขหน้าทางทิศตะวันออก มีเสาอิงรูปครึ่งวงกลม 2 เสา คู่กันเป็นปูนปั้นคล้ายกลีบบัวเรียงกันเป็นชั้นๆ ชั้นล่างเน้นขอบของอาคารโดยรอบด้วยลายปูนปั้นพระทวารและพระแกล ซึ่งมีรูปร่างต่างๆ กัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ที่วังวรดิศนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เหมือนดั่งที่ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา ประทานเล่าไว้แก่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ว่า “ในวันหนึ่งๆ มีแต่ความวิตกกังวลใจ เมื่อมีเสียงหว๋อดังขึ้นคราวไร เพื่อเตือนว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดกำลังจะมา ก็ต้องคอยช่วยกันยกพระโกศศพของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปทางโน้นทีทางนี้ที ด้วยเกรงจะเกิดภยันตราย“
วังวรดิศได้รับการอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์โดยหลานชายใหญ่สืบตระกูลในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ อดีตเอกอัครราชทูต หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล และสืบต่อมายังทายาทบุตรชายคนเดียว คือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและจังหวัดเชียงใหม่ วังวรดิศได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ.2527 และได้รับคำกล่าวชื่นชมจากองค์การยูเนสโกประจำภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ในการที่ทายาทในทุกรุ่นทุกสมัยสามารถดำรงรักษาวังวรดิศมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ เป็นเกียรติต่อประเทศชาติและประชาชน
ทราบหรือไม่ว่า ห้องที่มีความสำคัญสูงสุดของวังวรดิศ คือ ‘ห้องพระบรมอัฐิ‘ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเข้าไปกราบถวายบังคมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ห้องพระบรมอัฐิเป็นประจำทุกวัน
สำนักข่าวเห็ดลม รายงาน