ที่โรงละครวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ เป็นประธานการซ้อมใหญ่ละครประจำปี ‘ขุนนางนอนคีรี จักรีอวตาร’ ของเหล่านักแสดงกว่า 200 คน และทดสอบระบบฉาก แสง สี เสียง เมื่อเย็นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแสดงรอบปฐมทัศน์ และรอบการแสดงจริงตลอดเดือนธันวาคม 2561
การแสดงเริ่มจากชุดเบิกโรง ที่มีความอ่อนช้อยและสวยงามด้วย ‘ฟ้อนสวยดอก’ และการแสดงองก์ที่ 1 ละครสร้างสรรค์ร่วมสมัยตำนานพื้นบ้านล้านนา เรื่อง ขุนนางนอนคีรี เกริ่นนำ ระบำหมูป่า เชียงรุ่งนครา (สาวน้อยหาบน้ำ ร่ายรำฟ้อนยูงคำ) สิเนหาความรัก อุปสรรคสองเรา ทุ่งบัวตองเริงสราญ ห้าวหาญราญรอน ขุนนางนอนคีรี ตามด้วย องก์ที่ 2 รามายณะ จักรีอวตาร ตอนนารายณ์ปราบนนทุก สุขศรีจักรีอวตาร ปราบมารทศกัณฐ์ และทรงธรรมสืบราชสันตติวงศ์
และด้วยลีลาท่าเต้นของนักแสดง ‘ระบำหมูป่า’ ที่ทั้งน่ารัก น่าเอ็นดู แต่กวนอารมณ์ สามารถเรียกเสียงกรี๊ด เสียงหัวเราะ และเสียงปบมือจากผู้เข้าชมในรอบฝึกซ้อมแบบลั่นโรงละคร นอกเหนือจากการแสดงความรัก ความสนุกสนาน ความตื่นเต้นในฉากต่อสู้ และความเศร้าโศกเมื่อนักแสดงตัวหลักเสียชีวิตลง
ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการการแสดง กล่าวว่า วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม จัดการแสดงละครประจำปี ‘ขุนนางนอนคีรี จักรีอวตาร’ เพื่อสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี เพลง การแสดงนาฏศิลป์ของล้านนา และอนุรักษ์ศิลปะการแสดงของราชสำนัก ตลอดจนเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏดุริยางคศิลป์ สู่ประชาชนและเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสร้างความตระหนักและชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมที่งดงามของไทย
“อยากให้สร้างสรรค์การแสดงอะไรสักชุดเพื่อบันทึกไว้ในปีที่เราช่วยเหลือ 13 หมูป่าเอาไว้ นอกเหนือจากระบำดอกบัวตอง ที่ต้องการสื่อสารถึงธรรมชาติของชาวเหนือที่มีดอกบัวตองบานสะพรั่งในช่วงหน้าหนาว ระบำสาวน้อยหาบน้ำ ระบำนกยูง ของสิบสองปันนา เพื่อให้เด็กๆ ได้แสดงออกถึงความสวยงามของวัฒนธรรม” ดร.กษมา กล่าว
ผศ.สมภพ เพ็ญจันทร์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ในฐานะผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า ทุกปีทางวิทยาลัยจะให้นักเรียนและนักศึกษาได้แสดงออกเรื่องนาฏศิลปดนตรีซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 35 แล้ว เพื่อแสดงผลงานประจำปี และปีนี้เป็นปีพิเศษเพราะมีเหตุการณ์ระดับโลก คือ การช่วยชีวิตหมูป่าอคาเดมี่ที่ขนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ ทาง ดร.กษมา ประสงค์เจริญ มีนโยบายว่าทางวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่น่าจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยการบันทึกในรูปแบบของดนตรีและโขน มีการแสดงเผยแพร่ให้ความรู้เด็กๆ เยาวชนรุ่นใหม่ว่าโขนเล่นและแสดงอย่างไร อันเป็นที่มาของการแสดง ‘ขุนนางนอนคีรี จักรีอวตาร’
“ละครเรื่อง ขุนนางนอนคีรี เป็นตำนานของชาวเชียงราย อ.แม่สาย ดอยที่มองเห็นทุกวันมีตำนานเรื่องเล่าสืบทอดกันมา เช่น แม่น้ำแม่สาย ดอยตุง ดอยนางนอน มีที่มาอย่างไร มีเรื่องเล่าว่าที่เมืองเชียงรุ่ง หรือสิบสองปันนา มีเจ้าหญิงแอบรักกับชายเลี้ยงม้า ซึ่งเป็นคนละชั้นวรรณะกัน จนกระทั่งตั้งท้อง กษัตริย์ซึ่งเป็นพ่อไม่ยอมและจะให้เจ้าหญิงแต่งงานกับลูกชายของอำมาตย์ เจ้าหญิงจึงตัดสินใจกับชายเลี้ยงม้าว่าจะต้องหนีลงมาทางใต้ ซึ่งก็คือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้งคู่คิดว่าจะสมหวัง แต่ระหว่างชายเลี้ยงม้าออกไปหาของป่ากับพบทหารที่ตามมาและถูกฆ่าตาย เมื่อเจ้าหญิงทราบว่าชายเลี้ยงม้าเสียชีวิตแล้ว จึงตัดสินใจจบชีวิตตนเองพร้อมกับลูกในท้อง เพื่อที่จะไปพบกันในชาติหน้า ร่างของเจ้าหญิงที่ทอดตัวลง กลายเป็นดอยนางนอน เลือดที่ไหลออกมา กลายเป็นแม่น้ำแม่สาย และท้องที่นูนออกมา กลายเป็นดอยตุง”
ผศ.สมภพ กล่าวอีกว่า เรื่องเล่านี้มีหลายตำนาน ที่ผ่านมามีการนำมาเขียนเป็นการ์ตูน แต่เรานำมาทำเป็นละครเรื่องใหญ่ และเวลาเราสร้างละครขึ้นมาหนึ่งเรื่อง จะเกิดระบำเพราะเป็นส่วนดึงสายตาคนดูและสามารถเล่นกับแสงสี ความสุข ความสมหวัง เสียงหัวเราะ สนุกสนานของคนดู
ทั้งนี้การแสดงละครประจำปี ‘ขุนนางนอนคีรี จักรีอวตาร’ จะเปิดรอบปฐมทัศน์ ในวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2561 เวลา 13.00 น. และรอบปกติ ระหว่างวันที่ 3-21 ธันวาคม 2561 (เฉพาะวันและเวลาราชการ) เวลา 09.00 น. และเวลา 13.00 น. บัตรราคา 100 บาท สำหรับเด็กนักเรียน และ 200 บาท สำหรับบุคคลทั่วไป ผู้ที่สนใจสามารถติดต่องานประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ 053- 283561-2 จัดแสดง ณ โรงละครวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่
สำนักข่าวเห็ดลม รายงาน